หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงชื่อโครงการ “หิ่งห้อย” จากคำเปรียบเปรยที่ว่าเมื่อหิ่งห้อยไปอยู่ที่ใด ตรงนั้นย่อมมีแสงสว่างเกิดขึ้น แม้ว่าหิ่งห้อยหนึ่งตัวอาจให้แสงสว่างได้เพียงเล็กน้อย ทว่าร้อยตัว พันตัวรวมกัน ย่อมสร้างแสงสว่างที่ยิ่งใหญ่ได้ เช่นเดียวกัน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ได้นำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญมาต่อยอดในกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านโครงการหิ่งห้อยที่เป็นส่วนหนึ่งในการนำพาแสงสว่าง และร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “โครงการหิ่งห้อยเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมหลักของ CKPower ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายคือนำองค์ความรู้ของบุคลากร CKPower ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานหมุนเวียนและวิศวกรรม มาประยุกต์ใช้เพื่อลดความขาดแคลน พร้อมทั้งเสริมศักยภาพของชุมชนและสังคม ในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าและพื้นที่ห่างไกล ทั้งในประเทศไทย และ สปป.ลาว เพื่อสร้างจิตสำนึก การมีส่วนร่วม และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมให้กับพนักงานทั่วทั้งองค์กร”

นอกจากนี้เรายังมุ่งหวังในการสร้าง DNA การเป็นผู้ให้ในหมู่บุคลากรของ CKPower สู่การสร้างคุณค่าทางสังคม ผ่าน 3 C คือ Competency หรือขีดความสามารถทางด้านวิศวกรรมพลังงานสะอาด ถัดมาคือ Co-Creation ส่งต่อพลังงานสะอาดเพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคม และ Cooperation ด้วยการสานสัมพันธ์ทั้งพนักงาน ชุมชน และภาคีเครือข่าย ทั้ง 3 C นี้ เราดำเนินโครงการผ่านกลยุทธ์ “เติม-ต่อ-ร่วม-สร้าง” กล่าวคือ เติม หมายถึงการที่ CKPower ได้ใช้ขีดความสามารถมาเติมเต็มชุมชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสีย ต่อ คือ การนำแนวคิดนวัตกรรมกระบวนการมาพัฒนาต่อยอดสู่ความยั่งยืน และ ร่วม คือ การมีส่วนร่วมของพนักงานกับผู้มีส่วนได้เสีย นำมาสู่การ สร้าง ความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายธนวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า“โครงการหิ่งห้อย เกิดจากการที่ CKPower ได้เข้าไปสำรวจลักษณะและความต้องการของชุมชน ทั้งในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ น้ำและไฟฟ้า รวมถึงด้านการศึกษาที่ต้องการให้เด็กและเยาวชน ได้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ด้วยการดำเนินกิจกรรมโดยบุคลากรของ CKPower ทุกระดับ พร้อมทั้งได้มีการดำเนินงานวัดผลตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อีกทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่ในบริษัทและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น”

สำหรับโครงการหิ่งห้อย ใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น เริ่มจากปี 2559 (ปีที่ 1) CKPower ได้สร้างอาคารเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับหมู่บ้านปู่คำน้อย และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าหมู่บ้านแม่ปะกลาง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ถัดมาในปี 2560 (ปีที่ 2) ได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องที่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแม่เหลอ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยดำเนินการปรับปรุงอาคารเรียน จัดสร้างฝายชะลอน้ำ บ่อเก็บน้ำระบบสูบพลังแสงอาทิตย์ พร้อมติดตั้งระบบโซล่าเซลล์เพื่อใช้กับระบบสูบน้ำ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์การเรียน

ต่อมาในปี 2561-2562 (ปีที่ 3) นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่ทาง CKPower ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้สร้างโครงการในพระราชดำริเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนที่บ้านแม่มุใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อว่า “ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่มุใน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) อุปถัมภ์” โดยได้สร้างอาคารเรียนประหยัดพลังงาน ห้องสมุด ระบบไฟส่องสว่างบนถนนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อาคารบ้านพักครู เรือนนอนสำหรับเด็กนักเรียนที่อยู่ห่างไกลพร้อมห้องน้ำ โรงอาหาร ลานเสาธง รวมทั้งปรับภูมิทัศน์โดยรอบ

หลังจากนั้นในปี 2562 (ปีที่ 4) ได้จัดทำโครงการภายใต้กรอบแนวคิดตามหลักการ Sustainable Power for The Future Generation ในกิจกรรมที่ชื่อว่า “เฮือนเคียงโฮง (ไฟฟ้า)” ซึ่งมีความหมายว่า ชุมชนหรือบ้านเรือนใกล้โรงไฟฟ้า ผ่านการพัฒนาพื้นที่โรงเรียนบ้านกาง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี อาทิ การให้ความรู้เรื่องไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ มอบชุดและอุปกรณ์การกีฬาให้แก่เด็กนักเรียน และในโครงการหิ่งห้อยปีที่ 4 ก็ได้จัดกิจกรรมอีกแห่งในประเทศไทย ที่โรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์วิทยา) อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่เป็นชุมชนใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย ผ่านกิจกรรม Hero! Solar Zero Waste เพื่ออบรมเรื่องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้ลดการใช้พลาสติก อีกทั้งมอบคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชน

สำหรับปี 2563 (ปีที่ 5) โครงการหิ่งห้อยมาที่โรงเรียนวัดกุฎีประสิทธิ์ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น เพื่อดำเนินการปรับปรุงทาสีอาคารเรียน เทพื้นสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กเล็ก แทนพื้นสนามเดิมซึ่งเสื่อมสภาพการใช้งานแล้ว ผ่านการออกแบบโดยใช้วัสดุลดแรงกระแทกที่ลดการบาดเจ็บจากการล้ม รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์สวนหย่อมและสวนวิทยาศาสตร์ พัฒนาศาลาอเนกประสงค์สำหรับอ่านหนังสือของผู้ปกครองและเด็ก พร้อมทั้งให้พนักงานได้ร่วมทำโต๊ะและเก้าอี้ เปเปอร์มาเช่ จากหนังสือพิมพ์ให้เด็กเล็ก เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน และสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้กับเยาวชนต่อไป

“ส่วนตัวผมเองได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่โครงการหิ่งห้อยในแต่ละปี ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับ ตัวแทนพนักงานและคนในพื้นที่ เราได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ และแววตาที่มีความสุขของคนในชุมชน ซึ่งสร้างความสว่างและความสุขใจให้กับชาว CKPower เป็นอย่างมาก เราเชื่อว่าพลังเล็กๆ จากโครงการหิ่งห้อยนี้ จะเป็นการนำขีดความสามารถทางด้านวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เรามีความเชี่ยวชาญ สอดคล้องกับเจตจำนงสำคัญของ CKPower ที่มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ต่ำที่สุดรายหนึ่ง พร้อมร่วมสนับสนุนนโยบายระดับประเทศและสากลในการลดระดับคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนในระยะยาว ทั้งนี้เราจะยังคงสานต่อในการพัฒนาชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ผ่านโครงการหิ่งห้อยซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของแสงสว่างในพื้นที่ที่ขาดแคลนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายธนวัฒน์ กล่าวในตอนท้าย