ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมร่วมมือในการจัดการกับภัยทางการเงินที่มาในรูปดิจิทัลทุกรูปแบบ และขอความร่วมมือไปกับค่ายมือถือทุกเจ้างดการจำหน่ายซิมมือถือ ที่น่าสงสัยหรือจำนวนมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปใช้เปิดบัญชีม้า หลอกเอาเงินของผู้ใช้บัญชีธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินทั้งหมดในการแก้ปัญหาภัยทางการเงินทางดิจิทัลมีการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าของผู้โอเงิน ด้วยการจำกัดวงเงินในการโอนเงินได้ครั้งละไม่เกิน 50000 บาทและไม่เกิน 200000 บาทต่อวันให้เป็นแนวทางปฎิบัติมาตรฐานเดียวกันทุกสถาบันการเงิน
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า “ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ให้ความสำคัญและ
ไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาภัยทางการเงินที่ประชาชนถูกหลอกลวง จึงได้ยกระดับให้เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทุกสถาบันการเงินจะต้องดูแลและบริหารจัดการอย่างจริงจัง โดย ธปท. ได้ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อช่วยให้ระบบการเงินมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน และเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ธปท. จึงได้เชิญผู้บริหารของสถาบันการเงินเข้าร่วมประชุมหารือและกำชับให้สถาบันการเงินทุกแห่งเร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงินทุกแห่ง”
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบของภัยคุกคามทางการเงินที่ทวีความรุนแรง พร้อมยกระดับความปลอดภัยของภาคธนาคาร เพื่อรับมือและจัดการภัยทางการเงินออนไลน์ ตามแนวทางการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ได้มีการหารือร่วมกับทาง ธปท. ให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ การป้องกัน ภาคธนาคารได้ร่วมมือกันงด
การส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ในการติดต่อกับลูกค้าในระยะนี้ และเร่งพัฒนาระบบป้องกันการทำธุรกรรมทุจริตอย่างต่อเนื่อง การตรวจจับ ธนาคารสมาชิกอยู่ระหว่างนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัยให้ได้โดยเร็ว โดยร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัย และบัญชีม้า ระหว่างธนาคารเพื่อดำเนินการติดตามป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การตอบสนองและรับมือ
จัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งเหตุได้โดยตรง ปัจจุบันมีธนาคารสมาชิกหลายแห่งเริ่มดำเนินการแล้ว
สำหรับมาตรการอื่นที่ระบบมีความซับซ้อนต้องใช้เวลาพัฒนา สมาคมฯ และธนาคารสมาชิก จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลา นอกจากนี้ ยังพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้ให้บริการ e-wallet ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริตภัยการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งระบบนิเวศแบบ end to end ที่มิจฉาชีพชอบใช้หลอกลวง”
นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า “เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีความเสี่ยงถูกหลอกลวง การดูแล
ความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินให้กับลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญสมาคมฯ และสถาบันการเงินสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือกับ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยในการจัดการเรื่องดังกล่าว
ที่ผ่านมาสถาบันการเงินสมาชิกหลายแห่ง ได้มีแนวทางการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะการออกประกาศเตือนการไม่ส่งลิงก์ต่่าง ๆ ให้กับลูกค้าและประชาชน และการเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจาก
การถูกหลอกลวงแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากการร้องเรียนมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางและพัฒนาระบบการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินที่จะเกิดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในครั้งนี้ สมาคมฯ และสถาบันการเงินสมาชิก จะร่วมมือเร่งยกระดับการดำเนินการตามมาตรการของ ธปท. ให้ได้ตามกำหนดเวลา เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน เพราะภัยทุจริตมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงเร็ว ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าให้ความรู้
ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน ให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ และยังพร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ มุ่งหวังว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ทั้งที่มีผลแล้วและที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จะช่วยยกระดับการจัดการภัยทางการเงินของสถาบันการเงินได้อย่างเท่าทัน มีประสิทธิภาพ และครบวงจร เพื่อป้องกัน
ความเสียหายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน นอกจากนี้ ภาคธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐยังอยู่ระหว่างการเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยบทบาทของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างบูรณาการ
วันที่ 9 มีนาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลายรูปแบบ เช่น SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และแอปพลิเคชันดูดเงิน ภัยหลอกลวงเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือรายได้ที่เก็บออม รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลของสถาบันการเงิน (สง.) ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการทำธุรกรรมทางการเงินในระยะต่อไป
ธปท. ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว และไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งที่ผ่านมา
ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกภาคการเงินดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง บนหลักการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองรับมือ เพื่อลดช่องทางของมิจฉาชีพ และช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อภัยการเงิน รวมทั้งกำชับให้ สง. ต้องเร่งจัดการปัญหาให้ประชาชนโดยเร็ว ซึ่งหลายเรื่องดำเนินการแล้ว เช่น ร่วมกับสำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) ปิด SMS ที่แอบอ้างชื่อเป็น
สถาบันการเงิน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพใช้แอบอ้างติดต่อประชาชน ซึ่งทำให้ภัยหลอกลวงทาง SMS เหล่านี้ลดลง
อย่างไรก็ดี การจัดการและแก้ปัญหาภัยการเงินในปัจจุบันยังมีจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเข้าถึงประชาชนของมิจฉาชีพที่ทำได้หลายช่องทางและหลายรูปแบบ กระบวนการอายัดบัญชีผิดปกติของ สง. ที่ยังใช้เวลานาน การซื้อขายบัญชีม้าที่ยังมีอยู่มาก ตลอดจนการแก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหาย ในครั้งนี้ ธปท. จึงได้ออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้ สง. ทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมี
การรักษาสมดุลระหว่างการบริหารจัดการความเสี่ยงกับการส่งเสริมบริการทางการเงินดิจิทัล ซึ่ง ธปท.
เห็นว่ามาตรการชุดนี้จะช่วยให้ สง. ป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ชุดมาตรการด้านการป้องกัน ตรวจจับ ตอบสนองและรับมือ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
- มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ให้ สง.
งดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และ
เลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของแต่ละ สง. ให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น โดย สง. ต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง และพัฒนาระบบความปลอดภัยบน mobile banking ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา - มาตรการการตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัยและลดความเสียหาย ลดการใช้บัญชีม้า ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนี้
- มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้กับผุ้เสียหายโดยเร็วต้องจัดให้มีช่องทาง สายด่วนตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับข้อร้องเรียน