TRENDING: SME D Bank ได้คะแนนปรับเพิ่ม ผลประเมิน Fair Finance ปี 2566 Read More

TRENDING: CKPower กวาดรายได้ 10,941 ล้านบาท ปี 66 Read More

TRENDING: SME D Bank ผนึกกำลัง ดีพร้อม – บสย. ติดปีกเอสเอ็มอี Read More

TRENDING: รวมพล..คนฮัจย์ Read More

TRENDING: EXIM BANK คว้ารางวัล Leadership Excellence Award Read More

กรกฎาคม 20, 2023

ผู้ว่าธปท ห่วงการเมืองกระทบท่องเที่ยว

สรุปประเด็น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพบสื่อมวลชน (Meet the Press)

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566
ธนาคารแห่งประเทศ
ไทย

  1. แนวโน้มเศรษฐกิจการเงินโดยรวม และทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 66 ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดจะทยอยปรับดีขึ้นช่วงปลายปีนี้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยบ้าง แต่ ธปท. คาดว่าการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นที่ต่อเนื่องและมากกว่าคาดจะช่วยลดทอนผลกระทบนี้ได้ นอกจากนี้ ในระยะหลังเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากภาคบริการ และเน้นเติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ทำให้อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกของภูมิภาคและไทยมากเท่าในอดีต

เงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาปรับลดลงตามคาดจากผลของฐานสูงในปีก่อน และมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าชั่วคราว แต่คาดว่าต่อไป หลังผลของฐานหมดลง เงินเฟ้อจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงจาก 1) แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ และ 2) การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น หากกำลังการผลิตตึงตัวขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว

            ในระยะต่อไป ธปท. ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (outlook dependent) มากกว่าที่จะพิจารณาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นล่าสุด (data dependent) เพียงอย่างเดียว เพราะโดยปกติข้อมูลระยะสั้นมักผันผวน และขึ้นกับปัจจัยเฉพาะ หาก ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลเหล่านั้นเป็นหลัก จะสร้างความผันผวนให้เศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น อีกทั้งการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา การพิจารณา outlook จะทำให้การดำเนินนโยบายตอบสนองต่อบริบทเศรษฐกิจได้ทันการณ์

ทั้งนี้ ในบริบทที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง เงินเฟ้อแม้ล่าสุดปรับลดลงแต่ยังมีความเสี่ยงว่าจะทยอยปรับสูงขึ้นต่อไป การทยอยปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเข้าสู่ระดับที่ช่วยรักษาสมดุลของเศรษฐกิจในระยะปานกลางจึงยังเหมาะสม (ถอนคันเร่ง แต่ไม่ได้เหยียบเบรก) โดยเป้าหมายของการดำเนินนโยบายยังเน้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่สะดุด โตได้ตามศักยภาพ เงินเฟ้อมีเสถียรภาพและอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง การคำนึงถึงเรื่องการรักษา policy space เพื่อรองรับ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงมีความสำคัญมากขึ้น

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจควรให้น้ำหนักมากขึ้นกับการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ทั้งเสถียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพการคลัง

สำหรับผลกระทบของสถานการณ์การเมืองต่อเศรษฐกิจ เบื้องต้น ธปท. ประเมินว่าจะไม่กระทบภาพรวมของเศรษฐกิจปีนี้มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนงบประจำยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างใกล้ชิดต่อไป

  • ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)

ธปท. อยากเห็น Virtual Bank เป็นผู้เล่นประเภทใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการรายย่อยและ SMEs ที่ยังไม่ได้รับหรือเข้าถึงบริการทางการเงินได้เพียงพอ และช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) อย่างเหมาะสม โดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน ดังนั้น จึงควรเริ่มจากจำนวนไม่มาก และต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันกับผู้เล่นรายเดิมและอยู่รอดได้ เพราะ Virtual Bank ทำธุรกิจรับฝากเงินจากประชาชน หากไม่สามารถอยู่รอดจนต้องปิดกิจการไปจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในวงกว้างได้

การเปิดให้จัดตั้ง Virtual Bank จำนวนไม่เกิน 3 รายในระยะแรก ถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงแล้วเทียบกับจำนวน ธพ. ที่มีอยู่เดิมในระบบ หลายประเทศที่มีจำนวน ธพ. สูงกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ยังอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้เพียง 3-5 รายเท่านั้น นอกจากนี้ การมี ธพ. จำนวนมากอาจไม่ได้ช่วยให้ประชาชนได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง เพราะการกำหนดดอกเบี้ยของ ธพ. มักขึ้นกับความเสี่ยงของลูกหนี้เป็นหลัก ในทางกลับกัน อาจทำให้การแข่งขันรุนแรงจนบางรายไม่สามารถอยู่รอดได้และกระทบความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ หรือสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น เพิ่มการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย จนกระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวและซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน

สำหรับการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 5,000 ล้านบาทในช่วงแรก เพราะมุ่งหวังให้ Virtual Bank มีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันกับ ธพ. ดั้งเดิมได้ และสามารถรองรับผลประกอบการในช่วงปีแรก ๆ ที่อาจขาดทุนสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปีอย่างที่เคยเห็นในต่างประเทศ จากทั้งค่าใช้จ่ายการลงทุนในระบบงานดิจิทัลที่ค่อนข้างสูง ขณะที่รายได้ยังไม่มาก เพราะต้องใช้เวลาในการขยายฐานลูกค้า โดย Virtual Bank ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าจะทำกำไรได้ ขณะที่บางรายไม่สามารถอยู่รอดได้และต้องปิดตัวไปแม้มีทุนราว 3,000 – 5,000 ล้านบาท

ด้านความคืบหน้าของการดำเนินการ ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้ง (หลังรับฟังความเห็นจากสาธารณชน 2 ครั้งแล้ว) และคู่มือการสมัคร เพื่อนำส่งกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเห็น Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2568

  • สถานการณ์หนี้ครัวเรือน และมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท.

ธปท. ประเมินว่าหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อรายย่อยจะทยอยปรับขึ้นบ้าง แต่จะไม่เกิด NPL Cliff เพราะสถาบันการเงิน (สง.) ยังเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ต่อเนื่อง และแม้มาตรการแก้หนี้ระยะยาวในช่วงโควิดจะมีถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น แต่ลูกหนี้ยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ต่อไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับ สง. แล้ว อีกทั้งระบบ ธพ. ยังมี
ความมั่นคง และสามารถบริหารจัดการหนี้ได้
นอกจากนี้ จากการประเมินข้อมูลของระบบ ธพ. พบว่า หนี้ค้างชำระ 1 – 3 เดือน (SM) ของสินเชื่อรายย่อย ไม่จำเป็นต้องไหลไปเป็น NPL ทั้งหมด โดยล่าสุดอัตราการไหลจากหนี้ชั้น SM เป็น NPL (migration rate) ของสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 22% สินเชื่อรถยนต์ 12% สินเชื่อบัตรเครดิต 57% และสินเชื่อ
ส่วนบุคคล 54% ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนหน้า รวมถึงสัดส่วนหนี้ SM ที่ปรับกลับสู่หนี้ชั้นปกติของสินเชื่อหลายประเภทก็สูงกว่าที่กลายไปเป็น NPL

อย่างไรก็ดี ธปท. ไม่ได้ชะล่าใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดย
ที่ผ่านมา ธปท. ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ออกมาตรการปูพรมเพื่อช่วยเหลือ
คนในวงกว้างได้โดยเร็ว ก่อนปรับเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุดหลังสถานการณ์เศรษฐกิจปรับดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึง ทั้งนี้
ในปัจจุบันแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ยังมีลูกหนี้บางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า จึงปิดจบหนี้ไม่ได้ ธปท. จึงจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยมาตรการที่จะบังคับใช้ก่อน คือ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้ ซึ่งตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ สง. ต้องเสนอขายผลิตภัณฑ์โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ชัดเจน เปรียบเทียบได้ เพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ ณ จุดตัดสินใจการกู้เงิน และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ สง. ต้องเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อนฟ้องหรือขายหนี้ ท้ายสุด หาก สง. จะฟ้องหรือโอนขายหนี้ ลูกหนี้ต้องรู้สิทธิ์และข้อมูลสำคัญครบถ้วน

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งของเกณฑ์ Responsible Lending คือ การกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) หรือกลุ่มที่ยังจ่ายหนี้ได้ตามปกติ แต่ปิดจบหนี้ไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ ทั้งนี้ ขอบเขตของการให้ความช่วยเหลือจะครอบคลุมลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหมุนเวียน (revolving P-loan) ที่มีรายได้น้อยและจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยหากลูกหนี้เลือกเข้ามาตรการนี้ (opt-in) สง. จะแปลงหนี้เดิมเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) และต้องปิดจบหนี้ภายใน 5 ปีด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี โดย ธปท. จะออก consultation paper ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และจะบังคับใช้เกณฑ์ Responsible Lending และ persistent debt ในวันที่ 1 ม.ค. 67 และ 1 เม.ย. 67 ตามลำดับ

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวคงยังไม่ได้ช่วยให้หนี้ครัวเรือนปรับลดลงได้อย่างเบ็ดเสร็จและในทันที แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของมาตรการในภาพรวมที่มุ่งหวังจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดย ธปท. จะแถลงรายละเอียดของมาตรการเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 21 ก.ค. 66 นี้

  • ประเด็นอื่น

มองไปข้างหน้า การขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยควรมาจากการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา การลงทุนของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และล่าสุดแทบไม่ต่างจากระดับก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40 ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่าปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ส่วนหนึ่งเพราะการขาดหลักประกันในการกู้ยืม มีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนโตไม่สูงนัก แนวทางหนึ่งในการแก้ไขจึงควรเร่งสร้างกลไกค้ำประกันความเสี่ยงการกู้ยืมโดยภาครัฐ (credit guarantee mechanism) ที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ สง. รับความเสี่ยงและกล้าที่จะปล่อยกู้สินเชื่อให้ SMEs ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจการเงินต่อไป